ซิลเวอร์นาโน ไทเทเนียมไดออกไซด์ และนาโนซิงค์ออกไซด์

ซิลเวอร์นาโน  ผู้เขียน: ดร. สุพิณ แสงสุข

อนุภาคขนาดนาโนของซิลเวอร์หรือโลหะเงิน พบได้มากขึ้นในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคต่างๆ เช่น การบรรจุหีบห่ออาหาร   สิ่งทอที่ต้านทานการเกิดกลิ่น  อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงผ้าปิดแผล  ในระยะเวลาไม่กี่เดือนมานี้เริ่มมีการตระหนักถึงความเสี่ยงของอนุภาคซิลเวอร์นาโนต่อการเป็นพิษต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มีความเป็นไปได้ที่อนุภาคซิลเวอร์นาโน จะส่งผลกระทบต่อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินและน้ำ   หรือทำให้แบคทีเรียที่มีโทษเกิดการต้านทานในการยับยั้งต่อซิลเวอร์นาโน

               
ด้วยเหตุที่ซิลเวอร์นาโนมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี จึงเป็นไปได้ว่าซิลเวอร์นาโนอาจทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ที่อยู่ในระบบนิเวศน์    ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียในดินที่มีบทบาทสำคัญในการตรึงไนโตรเจนและย่อยสลายสารอินทรีย์   แบคทีเรียที่ช่วยรักษาน้ำให้สะอาดด้วยการนำไนเตรตออกจากการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ จากการใช้ปุ๋ยมากเกินไป  นอกจากนี้แบคทีเรียก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันกับสัตว์ตั้งแต่แมลงจนถึงมนุษย์    แบคทีเรียหลายชนิดช่วยในเรื่องการย่อยอาหารให้กับสัตว์ที่มันอาศัยอยู่ และบางชนิดยังทำหน้าที่มากไปกว่านั้น  แบคทีเรียบางชนิดผลิตสารปฏิชีวนะช่วยป้องกันตัวต่อจากโรคที่เกิดจากเชื้อรา    แบคทีเรียบางชนิดผลิตแสงได้ซึ่งช่วยปลาหมึกฮาวายในการพรางตัวจากศัตรู

สำหรับแบคทีเรียที่มีโทษ  มีความเป็นไปได้ว่าซิลเวอร์นาโนอาจเพิ่มความต้านทานในการฆ่าเชื้อของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายได้ และอาจต้านทานต่อยาฆ่าเชื้อที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย

ซิลเวอร์เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมแบบต่างๆ  ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรูปของแร่ที่เกี่ยวข้องกับธาตุอื่นๆ ซึ่งแม้แต่ในรูปแบบของก้อน  ซิลเวอร์ก็เป็นอันตรายอย่างมากต่อปลา   สาหร่าย  สัตว์น้ำพวกกุ้ง ปู    พืชบางชนิด  รา  และแบคทีเรีย   ซิลเวอร์ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ด้วยระดับความเข้มข้นที่ต่ำกว่าโลหะหนักชนิดอื่นๆ     และความเป็นพิษของซิลเวอร์นาโนมากกว่าของซิลเวอร์ในรูปแบบก้อน  ซิลเวอร์มีความเป็นพิษสูงกว่าโลหะอื่นที่อยู่ในรูปของอนุภาคนาโนเหมือนกัน      การศึกษาในหลอดทดลอง (In vitro) แสดงให้เห็นว่าซิลเวอร์นาโนมีความเป็นพิษต่อเซลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ว่าจะเป็นเซลตับ     สเต็มเซล    และแม้แต่เซลสมอง

ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากซิลเวอร์นาโนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ  จึงควรศึกษาข้อมูลด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านพิษวิทยา หรือด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้แน่ชัดเสียก่อน  

ที่มา :  

  1. Senjen, R., 2007. Nanosilver- a threat to soil, water and human health? (online)
  2. Avialable from : http://nano.foe.org.au/node/190 [Accessed 29 May 2007]


ไทเทเนียมไดออกไซด์ ผู้เขียน: ดร. สุพิณ แสงสุข


ไทเทเนียมไดออกไซด์เป็นสารเก่าแก่ชนิดหนึ่งเท่าๆกับโลกของเรา และเป็นหนึ่งใน 50 ชนิดของสารที่ผลิตมากที่สุดทั่วโลก ลักษณะโดยทั่วไปมีสีขาว ทึบแสง เกิดเองตามธรรมชาติมี 2 รูปแบบ ใหญ่ คือ รูไทล์และอานาเทส  ทั้ง 2 รูปแบบมีไทเทเนียมไดออกไซด์บริสุทธิ์อยู่กับสารปนเปื้อน ต้องผ่านกระบวนการทางเคมีจึงจะนำสารปนเปื้อนออกได้ เหลือไว้แต่ไทเทเนียมไดออกไซด์บริสุทธิ์    ไทเทเนียมไดออกไซด์เป็นสารสีที่มีสีขาวมีประโยชน์สำหรับการใช้งานได้หลากหลาย เนื่องจากมันไม่มีกลิ่นและมีความสามารถในการดูดซับ  แร่ชนิดนี้พบได้ในหลายผลิตภัณฑ์ตั้งแต่สีทาบ้านไปถึงอาหารและเครื่องสำอาง   ในกลุ่มเครื่องสำอางใช้เพื่อหลายวัตถุประสงค์  ไทเทเนียมไดออกไซด์เป็นสารสีที่มีสีขาว  เป็นตัวที่ทำให้เกิดการทึบแสง และเป็นตัวป้องกันแสงแดด 

                ไทเทเนียมไดออกไซด์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสารสีที่ปลอดภัย  ไม่ใช่สารที่อยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็ง  สารที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์   สารที่ทำให้ตัวอ่อนในครรภ์เกิดความผิดปกติ  หรือสารที่มีพิษ ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่าไทเทเนียมไดออกไซด์ไม่ใช่สารที่มีพิษ   โดยทั่วไปมีความปลอดภัยในการใช้กับอาหาร  ยา  สี และเครื่องสำอาง  แต่นี่ไม่ใช่ข้อยุติสำหรับการโต้แย้ง   ความปลอดภัยของไทเทเนียมไดออกไซด์ในอีกรูปแบบหนึ่งยังไม่ได้กล่าวถึง

                หนึ่งในรูปแบบของแร่ หรือการสกัดแร่รวมถึงไทเทเนียมไดออกไซด์ที่ควรคำนึงถึงคือ อนุภาคขนาดเล็กหรืออนุภาคขนาดนาโน  ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้สามารถทำแร่ให้มีขนาดเล็กได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  ขณะที่หลายส่วนชื่นชมกับเทคโนโลยีใหม่  บางส่วนเตือนถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่ภายในที่มาถึงร่างกายของเรา  มีการศึกษาพบว่าอนุภาคขนาดเล็กของไทเทเนียมไดออกไซด์รูปแบบอนาเทส ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 0.1 ไมโครเมตร ก่อให้เกิดโรคได้

                นอกจากนี้การบาดเจ็บต่อเซลขึ้นอยู่กับขนาดอนุภาคของไทเทเนียมไดออกไซด์  ยิ่งขนาดอนุภาคเล็กความเป็นพิษก็ยิ่งมากขึ้น  โดยขนาด 70 นาโนเมตร สามารถแทรกผ่านถุงลมในปอดได้  ขนาด 50 นาโนเมตร สามารถแทรกผ่านเซลได้ และขนาด 30 นาโนเมตร สามารถแทรกเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางได้ ผลการสรุปนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริโภค  เนื่องจากอุตสาหกรมเครื่องสำอางกำลังใช้สารสีขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในสารกันแดดและเครื่องสำอางที่ให้สี    อนุภาคนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ถูกใช้ในสารกันแดดเนื่องจากไม่มีสีและแม้ว่าจะมีขนาดเล็กก็ยังสามารถดูดกลืนรังสีอุลตร้าไวโอเลตได้   มีบริษัทเครื่องสำอางหลายบริษัทที่เพิ่มทุนในการใช้อนุภาคนาโนของโลหะออกไซด์   อย่างไรก็ตามอนุภาคไทเทเนียมไดออกไซด์ที่ใช้ในฐานะที่เป็นสารกันแดดมีขนาดเล็กอาจจะสามารถแทรกผ่านเซล   และนำไปสู่การเกิดกระบวนการโฟโตคะตะไลซิสภายในเซลได้  และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ DNA เมื่อได้รับแสง และเป็นที่น่ากลัวว่าจะก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง   การศึกษาโดยการใช้สารกันแดดที่มีไทเทเนียมไดออกไซด์ขนาดเล็กทุกวันเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่าผิวหนังสามารถดูดซับอนุภาคไทเทเนียมไดออกไซด์ขนาดเล็กได้   อนุภาคเหล่านี้พบได้ในชั้นของผิวหนังภายใต้แสงอุลตร้าไวโอเลต   สำหรับอนุภาคไทเทเนียมไดออกไซด์ที่มีขนาดใหญ่ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการสะท้อนหรือดูดกลืนแสงอุลตร้าไวเลตได้เพื่อปกป้องผิว  ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อนุภาคของสารสีขนาดเล็กไม่ว่าจะเป็นสารกันแดดหรือเครื่องสำอางที่ให้สี


ที่มาของข้อมูล :
  1. Stryker, L., 2007. Titanium Dioxide : Toxic or Safe? (online)
  2. Avialable from : www.theorganicmakeupcompany.com/CA/titnaniumdioxide.asp [Accessed 29 May 2007]


วีดีโอ นาโนเทคโนโลยีเพื่อน้ำสะอาด  (ไทเทเนียมไดออกไซด์)


นาโนเทคโนโลยีเพื่อน้ำสะอาด  (ไทเทเนียมไดออกไซด์


อัปโหลดโดย   เมื่อ 27 มิ.ย. 2011



นาโนซิงค์ออกไซด์ ผู้เขียน: ดร. สุพิณ แสงสุข

ซิงค์ออกไซด์เป็นวัสดุในกลุ่มโลหะออกไซด์ ที่มีการนำมาใช้งานในรูปแบบของวัสดุนาโน ตัวอย่างการใช้นาโนซิงค์ออกไซด์ ได้แก่ การใช้งานในกลุ่มของอิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ตรวจจับก๊าซ ใช้สำหรับการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในทางทันตกรรม ใช้ในการบำบัดสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีสมบัติที่ดีในด้านการดูดซับแสง และสมบัติด้านการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง นอกจากนี้ยังใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับคนโดยตรงคือเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลชั่นกันแดดที่เริ่มนิยมนำซิงค์ออกไซด์ขนาดนาโนมาใช้เป็นองค์ประกอบ เนื่องจากมีระดับความสามารถในการป้องกันรังสียูวีได้ในระดับเดียวกับอนุภาคซิงค์ออกไซด์ขนาดใหญ่กว่านาโน แต่ข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดของโลชั่นกันแดดที่มีอนุภาคนาโนเป็นองค์ประกอบ คือการส่งผ่านแสงได้ดีกว่า ทำให้ไม่ทิ้งร่องรอยให้เห็นเป็นสีขาวอย่างชัดเจนบนผิวเมื่อเทียบกับโลชั่นกันแดดที่ใช้อนุภาคขนาดใหญ่ จากเหตุที่ซิงค์ออกไซด์ได้รับความสนใจในการใช้ประโยชน์มากขึ้น ทำให้เกิดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผลที่ตามมาคือการศึกษาด้านความเป็นพิษของนาโนซิงค์ออกไซด์ ในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านความเป็นพิษต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิต
           
ตัวอย่างการศึกษาด้านความเป็นพิษของนาโนซิงค์ออกไซด์ต่อแบคทีเรียแกรมลบ โดยใช้ E.coli เป็นตัวแทน ต่อแบคทีเรียแกรมบวกโดยใช้ S.aureus เป็นตัวแทน และต่อเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันของมนุษย์ในระดับเบื้องต้น (T cell) ผลการศึกษาโดยใช้นาโนซิงค์ออกไซด์ขนาดประมาณ 13 นาโนเมตร แสดงให้เห็นว่า นาโนซิงค์ออกไซด์สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของ E.coli ได้ที่ระดับความเข้มข้น ≥ 3.4 มิลลิโมล ในขณะที่การเจริญเติบโตของ S.aureus ถูกยับยั้งได้อย่างสมบูรณ์ที่ระดับความเข้มข้น ≥ 1 มิลลิโมล และโดยการใช้นาโนซิงค์ออกไซด์แบบเดียวกัน พบว่านาโนซิงค์ออกไซด์มีผลต่อ T cell ของมนุษย์เพียงเล็กน้อยที่ระดับความเข้มข้นเดียวกับที่เป็นพิษต่อแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ โดยรวมแล้วผลการทดลองแสดงให้เห็นถึงความเป็นพิษที่แตกต่างกันระหว่างระบบของแบคทีเรียและ T cell ของมนุษย์ (1)
           
ส่วนการศึกษาถึงระดับความเป็นพิษที่แตกต่างกันระหว่าง ZnO, CuO และ TiO2 ต่อแบคทีเรียและสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง หรือปู เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทั้ง 2 ชนิด อยู่ในห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศน์จึงใช้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นตัวแทนสำหรับการศึกษา ซึ่งผลจากการศึกษา พบว่าความเป็นพิษของโลหะออกไซด์ (ทั้งในระดับนาโนและขนาดใหญ่) ต่อแบคทีเรีย V.fisheri และต่อกุ้งจัดลำดับได้ดังต่อไปนี้ TiO2 < CuO < ZnO นอกจากนี้ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นอีกว่า อนุภาคโลหะออกไซด์ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในเซลล์จึงจะเป็นสาเหตุของความเป็นพิษ แต่การสัมผัสกันระหว่างเซลล์กับอนุภาคนาโนก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อเยื่อหุ้มเซลล์ได้ (2)
           
สำหรับการศึกษาถึงผลของอนุภาคนาโนต่อเซลล์ผิวหนังของคน (human skin fibroblast) พบว่า เซลล์ผิวหนังของคนมีความว่องไวต่อทั้งอนุภาคนาโนของไทเทเนียมไดออกไซด์และซิงค์ออกไซด์ โดยนาโนซิงค์ออกไซด์มีความเป็นพิษสูงกว่านาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ (3)
           
จากข้อมูลแสดงในข้างต้น จะเห็นได้ว่าอนุภาคนาโนมีผลต่อเซลของสิ่งมีชีวิตทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่  ดังนั้นในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นาโนจึงควรพิจารณาถึงผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งต่างๆทั้งที่ตัวผู้ใช้เองและสิ่งแวดล้อม

เอกสารอ้างอิง
  1. Wang, B., Feng, W.,  Wang, M., Wang, T., Gu, Y., Zhu, M., Ouyang, H., Shi, J.,Zhang, F., Zhao, Y., Chai, Z, Wang, H. & Wang, J.; Acute toxicological impact of nano- and submicro-scaled zinc oxide powder on healthy adult mice. J. Nano. Res.  10, [2], 263-276 (2008).
  2. Heinlaan, M., Ivask, A., Blinova, I., Dubourguier, H-Ch., & Kahru, A.; Toxicity of nanosized and bulk ZnO, CuO and TiO2 to bacteria Vibrio fischeri and crustaceans Daphnia and Thamnocephalus platyurus. Chemosphere 71, 1308-1316(2008).
  3. Dechsakulthorn, F., Hayes, A., Bakand, L. J. & Winder Ch.; In vitro cytotoxicity assessment of selected nanoparticles using human skin fibroblasts. AATEX 14, 397-400 (2007).


ZnO Nano หรือ ซิงค์ออกไซด์นาโน   คืออะไร

ซิงค์ออกไซด์นาโน  เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการเปลี่ยนขนาดอนุภาคซิงค์ออกไซด์ให้มีขนาดเล็กลงอยู่ในระดับอนุภาคนาโนเมตร มีลักษณะเป็นผงอนุภาคละเอียดมีขนาดอนุภาคเล็กระดับนาโนเมตร มีความบริสุทธิ์สูง  มีสีขาวและไม่เปลี่ยนสี  สามารถป้องกันรังสี  UV-A และ UV-B  ต้านทานแบคทีเรีย (Anti-bacteria)ระงับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆได้
โดยกระบวนการสังเคราะห์อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ ( Synthesis of  ZnO Nanoparticles )  มี วิธี
      • Coprecipitation
      • Sol-gel
      • Hydrothermal
      • Flame spray  Pyrolysis

โลหะสังกะสีกับสุขภาพ
      หากกล่าวถึงซิงค์ (Zinc) หรือสังกะสี หลายคนคงคิดถึงโลหะชนิดหนึ่งที่นำมาทำเป็นหลังคาบ้าน จาน ชาม รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ  แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแท้จริงแล้วสังกะสีมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับมนุษย์มากกว่านั้น  สังกะสีนอกจากจะเป็นโลหะชนิดหนึ่งแล้ว  สังกะสีที่อยู่ในรูปออกไซด์ถูกนำมาใช้เป็นยา  และยังเป็นธาตุองค์ประกอบที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย
      สังกะสีเป็นหนึ่งในสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายมนุษย์  คือ  เป็นองค์ประกอบสำคัญของเอนไซม์หลายชนิดในร่างกายมนุษย์  ช่วยในการเจริญเติบโต  และระบบต่างๆของมนุษย์
ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ZnO หรือ ซิงค์ออกไซด์   คืออะไร
      ZnO หรือ ซิงค์ออกไซด์เป็นที่รู้จักในนาม คาลาไมล์  ซึ่งเป็นภาษาอียิปต์โบราณ เป็นธาตุธรรมชาติจากสินแร่ สมิธโซไนต์ (Smithsonite) มนุษย์ใช้ซิงค์ออกไซด์ในการรักษาโรคตั้งแต่ในยุคอียิปต์โบราณ
      ซิงค์ออกไซด์  มีลักษณะเป็นผงอนุภาคละเอียดสีขาว  เป็นสารที่ใช้ยับยั้งแบคทีเรีย (Anti-bacteria )  ไม่มีความเป็นพิษต่อร่างกาย      นอกจากฆ่าแบคทีเรียแล้วยังช่วยป้องกันและยับยั้งการแบ่งเซลล์ของแบคทีเรีย      ด้วยเหตุผลนี้ซิงค์ ออกไซด์จึงเป็นหนึ่งในสารที่สำคัญในการเป็นยาต้านแบคทีเรีย  และยังสามารถป้องกันรังสี  UV-A และ UV-B   ระงับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์

บทบาทของนาโนซิงค์ออกไซด์

ด้านเภสัชกรรม
นาโนซิงค์ออกไซด์เป็นสารที่สามารถเติมในอาหารได้โดยมีความปลอดภัยสูง  สามารถใช้ได้ทั้งในอาหารคนและอาหารสัตว์  เนื่องจากธาตุสังกะสีเป็นธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย  โดยปกติร่างกายผู้ใหญ่ต้องการสังกะสีวันละ 15 มิลลิกรัม  และเพิ่มขึ้นเป็น 25 มิลลิกรัม ในสตรีที่ให้นมบุตร  ซิงค์ออกไซด์เป็นยาสมานแผล ลดการอักเสบ  และยับยั้งแบคทีเรียได้ดี  โดยนำมาใช้เป็นยาสมานผิว  และรักษาโรคติดเชื้อที่ผิวหนังบางชนิด เช่น โรคเรื้อนกวาง  โรคผิวหนังเป็นตุ่มพุพองจากเชื้อแบคทีเรีย  โรคกลากเกลื้อน  ฝี  อาการคันตามผิวหนังและผิวระคายเคือง  โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของนาโนซิงค์ออกไซด์ที่ใช้จะอยู่ประมาณ 10 ถึง 20  นาโนเมตร  จากการสังเกตภายใต้กล้องกำลังขยายสูง  พบว่ามีลักษณะเป็นผงอนุภาคละเอียด  มีความบริสุทธิ์สูง  มีสีขาวและไม่เปลี่ยนสี

ด้านเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์กันแดด
1.นาโนซิงค์ออกไซด์มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันรังสี UVA และ UVB   นอกจากนั้นยังมีอนุภาคเล็กละเอียด  มีความบริสุทธิ์สูง  และปลอดภัย  เหมาะสมที่จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์กันแดด  สำหรับผิวเพื่อปกป้องรังสี UV   ซิงค์ออกไซด์มีความปลอดภัยและอ่อนโยนต่อร่างกาย         โดยได้รับการยืนยันจาก Food and Drug Administration (FDA)  ว่าเป็น1 ใน 2 ชนิดของสารกันแดดที่เป็นส่วนผสมในประเภทผลิตภัณฑ์ดูแลผิวซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB 
2.อนุภาคปกติของซิงค์ออกไซด์จะมีสีขาวเมื่อนำมาทาลงบนผิว  ดังนั้นซิงค์ออกไซด์  จึงไม่นิยมนำมาใช้ในการเป็นครีมหรือผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับผิว  อย่างไรก็ตาม  นาโนซิงค์ออก-ไซด์ได้รับการทดสอบโดย Australian commonwealth scientific & industrialresearch organization  (CSIRO)  พบว่านาโนซิงค์ออกไซด์เมื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมของครีมหรือโลชั่นกันแดดจะให้สัมผัสนุ่มลื่น  โปร่งใส  และไม่มีสีหลังจากที่ทาลงบนผิว  นาโนซิงค์ออกไซด์จึงเหมาะที่จะนำมาผสมเป็นสารกันแดดในเครื่องสำอาง

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และยา
อาหารสัตว์ที่มีนาโนซิงค์ออกไซด์จะให้ผลดีกว่าการเติมไมโครซิงค์ออกไซด์  โดยจะทำให้อัตราการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้สูงกว่า  ทำให้ลดปริมาณการเติมซิงค์ออกไซด์ในอาหารได้
               
อุตสาหกรรมการผลิตยาง
นาโนซิงค์ออกไซด์ถูกใช้เป็นสารลดแรงตึงผิว  ช่วยในการยืดอายุการใช้งานของยางและใช้ในการผลิตยางที่สามารถป้องกันรอยขูดขีด
               
อุตสาหกรรมเซรามิก
ปกติในอุตสาหกรรมเซรามิกจะใช้         ซิงค์ออกไซด์ในการให้สีขาว      จากการใช้นาโนซิงค์ออกไซด์   พบว่าสามารถช่วยลดอุณหภูมิการเผาเซรามิกให้เหลือเพียง 400  ถึง  600 องศาเซลเซียส  โดยหลังการเผาพบว่าผิวของเซรามิกที่ได้มีความมันวาวราวกับกระจก
               
อุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมเคมีอื่นๆ
ผลิตสิ่งทอป้องกันแบคทีเรียและเชื้อราการกำจัดกลิ่นของเสื้อผ้า  เสื้อผ้าทำความสะอาดตัวเอง    ผลิตเส้นใยและสิ่งทอที่สามารถป้องกันรังสี UV ได้
               
อุตสาหกรรมสี
นาโนซิงค์ออกไซด์เป็นสารป้องกันไฟฟ้าสถิตตัวใหม่  ซึ่งมีความสามารถเป็นสารกึ่งตัวนำ  การเติมนาโน     ซิงค์ออกไซด์ในเรซินจะสามารถนำมาใช้ป้องกันไฟฟ้าสถิตได้  ทั้งยังสามารถผลิตสีป้องกันรังสี UV   สีที่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้

แหล่งข้อมูล/ที่มา: นาโนซิงค์ออกไซด์




วีดีโอ ชาววิทย์ชิดชาวบ้าน (นาโนซิงค์ออกไซด์)


1.ชาววิทย์ชิดชาวบ้าน (นาโนซิงค์ออกไซด์) Part 1


2.ชาววิทย์ชิดชาวบ้าน (นาโนซิงค์ออกไซด์) Part 2


3.ชาววิทย์ชิดชาวบ้าน (นาโนซิงค์ออกไซด์) Part 3


4.ชาววิทย์ชิดชาวบ้าน (นาโนซิงค์ออกไซด์) Part 4


อัปโหลดโดย   เมื่อ 16 พ.ย. 2010