แนวโน้มธุรกิจชำระค่าสินค้าและบริการแข่งขันเข้มข้น

 

             
               บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์  " ธุรกิจรับชำระค่าสินค้า และบริการ (Bill Payment) :  แนวโน้มเติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่ยังคงเข้มข้น"ระบุว่า ธุรกิจตัวแทนรับชำระค่าสินค้าและบริการ (Bill Payment) เกิดขึ้นในราวปี 2537
โดยในระยะแรกปริมาณธุรกรรมหลัก จะมาจากการชำระค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าประปา และค่าโทรศัพท์พื้นฐาน  ซึ่งจุดให้บริการหลักจะเป็นที่สาขาธนาคารพาณิชย์  ส่วนธุรกิจเอกชนอื่นในขณะนั้น มีเพียงเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่เป็นผู้บุกเบิกผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อ
ปริมาณธุรกรรมด้าน Bill Payment เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา จากผู้ใช้บริการเมื่อแรกเริ่มประมาณหลักพันราย ทวีจำนวนขึ้นสู่หลักล้านราย ทั้งด้วยอุปสงค์ หรือความต้องการใช้บริการในลักษณะดังกล่าว ที่มาจากความรีบเร่งของสภาวะการดำรงชีวิตโดยเฉพาะในเขตเมือง และจากการขยายตัวของการใช้บริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ด้านอุปทาน หรือผู้ให้บริการ ก็ได้มีการขยายขอบข่ายบริการไปยังสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้น อาทิเช่น การชำระค่าบัตรเครดิต เบี้ยประกันภัย โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซื้อตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น ส่งผลให้มีบริษัทเอกชนหลายแห่งรุกเข้าสู่ธุรกิจการเป็นตัวแทนรับชำระค่าสินค้าและบริการ โดยมีจำนวนผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปของจุดบริการ (เคาน์เตอร์/สาขา) และขยายไปยังช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการรับชำระผ่านโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต


จุดเปลี่ยนสู่การจัดระเบียบธุรกิจการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าโดยรวมทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงผลักดันให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 (พ.ร.ฎ. e-Payment) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 โดยให้อำนาจ ธปท.กำกับดูแลธุรกิจ e-Payment ครอบคลุมผู้ให้บริการทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และ Non-bank เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงิน การพาณิชย์ และป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน  ธุรกิจบริการรับชำระเงินแทน (Bill Payment)  เป็น 1 ใน 8 ธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์  ที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยกฎหมายดังกล่าว และต้องขอรับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนให้บริการ  ปัจจุบันมีผู้ให้บริการที่จดทะเบียนกับ ธปท.รวม 33 ราย เป็นธนาคารพาณิชย์ 19 ราย  และบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) 14 ราย 


การรับชำระเงินแทนผ่านเคาน์เตอร์/จุดบริการ...หนึ่งในช่องทางหลักของการให้บริการ 
ปริมาณรายการจ่ายบิลที่เคาน์เตอร์ธนาคารหรือจุดบริการของ Non-bank (Bill Payment Transaction) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับสู่หลัก 300 ล้านรายการ/ปี  ทั้งนี้ จากข้อมูลที่รายงานโดย ธปท. พบว่า ปริมาณรายการจ่ายบิลที่เคาน์เตอร์ธนาคารหรือจุดบริการของ Non-bank (Bill Payment Transaction) มียอดทั้งสิ้นราว 151 ล้านรายการในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้น 11.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย74.14% เป็นการชำระค่าสินค้าและบริการที่จุดบริการของผู้ให้บริการประเภท Non-bank เป็นหลัก  ซึ่งค่าธรรมเนียมการให้บริการรับจ่ายบิลส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 7-15 บาท/รายการ  ทำให้มูลค่าตลาดของรายได้จากค่าธรรมเนียมการรับชำระเงินที่ประเมินว่าอยู่ในช่วงไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท/ปี (คำนวณจากค่าธรรมเนียมการจ่ายบิลเฉลี่ย 10 บาท/รายการ) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของ Non-bankq

ด้านรายละเอียดของการจ่ายบิลที่เคาน์เตอร์และจุดบริการ (Bill Payment) นั้น แบ่งเป็นการชำระบิลประเภทค่าสาธาณูปโภคพื้นฐาน (รวมค่าไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์พื้นฐาน) ด้วยสัดส่วน 23% ของปริมาณรายการทั้งหมด และประเภทค่าสินค้าและบริการ (รวมบิลบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต ประกัน และค่างวดสินค้าและบริการอื่นๆ) อยู่ที่ 77% ซึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้ใช้บริการบางส่วนเลือกชำระค่าบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานผ่านการหักบัญชีบัตรเครดิต/เงินฝากอัตโนมัติเพื่อความสะดวกไปค่อนข้างมากแล้ว อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ก็ได้บุกเบิกช่องทางการจ่ายบิลดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยแรก ๆ

กว่า 90% ของมูลค่าธุรกรรมการจ่ายชำระเงินแทน เป็นการจ่ายบิลที่เคาน์เตอร์ธนาคาร แม้ว่าปริมาณรายการการจ่ายบิลที่เคาน์เตอร์ธนาคาร โดยลำพัง จะมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด ก็ตาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาชนผู้ใช้บริการ โดยมักเลือกการจ่ายบิลที่มีมูลค่าสูงผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร  นอกจากนี้ ยังอาจเป็นผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการรับจ่ายบิล ไม่กำหนดวงเงินขั้นสูงในการรับชำระต่อครั้งไว้ โดยคงคิดค่าบริการที่ประมาณ 10-25 บาท/รายการ ไม่ว่าจะชำระด้วยมูลค่าเท่าไรก็ตาม  ซึ่งแตกต่างจากการรับจ่ายบิลของ Non-bank ที่มักกำหนดวงเงินรับชำระต่อรายการไว้ที่ไม่เกิน 30,000-50,000 บาท
ขณะที่ ยังมีข้อสังเกตอีกว่า สื่อที่ใช้ในการชำระเงินในธุรกรรมการจ่ายบิล เป็นการใช้เงินสดในสัดส่วนที่สูงถึง 97% ของรายการ และคิดเป็นประมาณ 40% ของมูลค่า ส่วนการใช้เช็ค มีสัดส่วนประมาณ 1% ของรายการ แต่คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 40% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่การจ่ายบิลมูลค่าสูงมักดำเนินการผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร  นั่นอาจเป็นนัยที่สะท้อนถึงความคุ้มทุนของการจ่ายบิลที่เคาน์เตอร์ธนาคาร เพราะยิ่งมูลค่าธุรกรรมมีระดับสูง ก็หมายความว่าต้นทุนค่าธรรมเนียมการจ่ายบิลต่อมูลค่าต่อรายการ ยิ่งต่ำลง


ธุรกิจบริการรับชำระเงินแทนในภาพกว้าง...การแข่งขันแฝงอยู่ในหลายมิติและมีความซับซ้อน 
ต้องยอมรับว่า ด้วยผลเชิงเทคนิคที่ฐานข้อมูลของ ธปท.จะจัดธุรกรรมการรับจ่ายบิลเฉพาะที่หน้าเคาน์เตอร์ให้อยู่ในนิยามของธุรกรรม Bill Payment เท่านั้น  ทำให้การสะท้อนภาพรายการและมูลค่าของบริการการรับชำระเงินแทน หรือ Bill Payment เพียงด้านเดียว อาจไม่ครอบคลุมภาพการแข่งขันในทุกมิติของบริการการรับชำระเงินแทน ซึ่งมีความซับซ้อนอยู่พอสมควร เนื่องจากหากพิจารณาถึงช่องทางการชำระบิลแล้ว กล่าวได้ว่า ผู้ใช้บริการสามารถดำเนินการได้ในหลากหลายช่องทาง ดังนี้

  1. เคาน์เตอร์ธนาคาร/จุดบริการของ Non-bank หรือ Bill Payment

  2. ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจัดอยู่ในหมวดธุรกรรม e-Payment เช่น การชำระเงินที่เครื่องเอทีเอ็ม การชำระเงินผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Banking) และการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet Banking)

  3. การหักบัญชีอัตโนมัติผ่านบัตรเครดิต/บัญชีเงินฝาก (Direct Credit/Direct Debit)

ขณะที่ ผู้ให้บริการประเภท Non-bank มีจุดแข็งสำคัญอยู่ที่ จำนวนจุดให้บริการที่ครอบคลุม และระยะเวลาการเปิดให้บริการที่ยืดหยุ่นสูงถึง 24 ชั่วโมง 7 วัน  ด้านผู้ให้บริการประเภท Bank ที่บุกเบิกช่องทางสาขามาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ก็เสริมจุดแข็งของตนด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเพิ่มความสะดวกของการเข้าถึงบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการหักบัญชีโดยอัตโนมัติ  ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า หากรวมรายการจ่ายบิลใน 2 ช่องทางแรก คือ Bill Payment และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (โดยไม่รวมรายการที่ทำผ่านการหักบัญชีโดยอัตโนมัติ เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูล) เพื่อให้ได้ภาพตลาดที่ครอบคลุมมากขึ้นนั้น ส่วนแบ่งตลาดระหว่าง Bank และ Non-bank อาจอยู่ที่ประมาณ 40 : 60  โดยปริมาณรายการจ่ายบิลของ Non-bank ส่วนใหญ่ประมาณ 95% เป็นการทำรายการที่จุดบริการ ในขณะที่ Bank จะมีสัดส่วนรายการจ่ายบิลที่เคาน์เตอร์ประมาณ 50% และอีก 50% เป็นการจ่ายบิลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

แนวโน้มการแข่งขันโค้งสุดท้ายของปี 2555 : ปรับกระบวนการที่จุดขาย ควบคู่กับการขยายเครือข่าย
มองต่อออกไปในช่วงที่เหลือของปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมปริมาณรายการของการจ่ายบิล เฉพาะที่หน้าเคาน์เตอร์ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูล ธปท. น่าจะรักษาอัตราการเติบโตไว้ใกล้เคียงกับช่วง 6 เดือนแรกของปี อันจะช่วยผลักดันให้ปริมาณรายการของการจ่ายบิลสำหรับทั้งปี 2555 สามารถเติบโตได้ประมาณ 11-13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาที่ 305-310 ล้านรายการ/ปี  เช่นเดียวกับเม็ดเงินหมุนเวียนที่น่าจะเติบโตเร่งขึ้นมาที่ 8-10% (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยครั้งร้ายแรง) มาที่ 6.3-6.4 ล้านล้านบาท/ปี สอดคล้องกับทิศทางการซื้อสินค้าและบริการในประเทศที่น่าจะประคองแรงส่งไว้ได้ต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลใช้จ่ายปลายปี ซึ่งน่าจะมีผลหนุนการจ่ายบิล โดยเฉพาะการจ่ายบิลบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสดที่ใช้ในการซื้อสินค้าและบริการ อันเป็นหนึ่งในรายการสำคัญที่ดำเนินการผ่านช่องทางการนี้ 


นอกจากปัจจัยข้างต้น คาดว่าแนวโน้มธุรกิจรับชำระค่าสินค้าและบริการทั้งในช่วงที่เหลือของปี 2555 นี้ ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ยังน่าจะได้รับแรงหนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภค และการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการด้วย ดังนี้

• พฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เน้นความสะดวกในการจ่ายบิล  เนื่องจากมองใบแจ้งหนี้เป็นภาระที่ต้องการขจัดโดยเร็ว จึงมีความอ่อนไหวต่อราคาน้อย ประกอบกับความเคยชินในการมีผู้บริการ  ทำให้หัวใจสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจการจ่ายบิลเมื่อวัดจากผู้ใช้บริการ จึงน่าจะขึ้นอยู่กับความสะดวกในเรื่องทำเลที่ตั้งที่อยู่ในย่านชุมชน และระยะเวลาการให้บริการที่เอื้อต่อผู้บริโภคให้เข้าถึงได้โดยมีข้อจำกัดน้อย   ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการทั้ง Bank และ Non-bank ที่มีจุดเด่นในเรื่องจำนวนจุดบริการและระยะเวลาการเปิดบริการ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ค่อนข้างดี
• ค่าธรรมเนียมการจ่ายบิลที่เคาน์เตอร์กับผู้ให้บริการ 2 ประเภท ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ยกเว้นกรณีค่าบริการบัตรเครดิต ที่อาจเป็นผลจากความขัดแย้งทางธุรกิจ (Conflict of Interest) จึงทำให้อัตราค่าธรรมเนียมการจ่ายค่าบัตรเครดิตของธนาคารคู่แข่งถูกกำหนดไว้ค่อนข้างสูง หรืออาจมาจากนโยบายของธนาคารเจ้าของบัตรที่ไม่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายแทนลูกค้า ด้วยเหตุผลทางการแข่งขันของธุรกิจหลัก ขณะที่บริการ e-Payment แม้จะมีต้นทุนดำเนินการต่ำกว่า แต่อาจต้องใช้เวลารอความคุ้นเคยของผู้บริโภค
• แนวโน้มการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการที่ยังรุนแรง   ด้วยมูลค่าเงินหมุนเวียนในธุรกรรมการจ่ายบิลในช่องทาง Bill Payment ที่น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท/เดือน และจากความสำเร็จของร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่มีเครือข่ายกว้างขวางทั่วประเทศ จึงได้จุดกระแสความสนใจในธุรกิจนี้  ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนหลายรายที่มีฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่างรุกเข้ามาร่วมมีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจการจ่ายบิลมากขึ้น   ทั้งนี้ คาดว่าทิศทางจำนวนผู้เล่น Non-bank ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว มีโอกาสปรากฏต่อเนื่องไปในอนาคต ควบคู่กับการเสริมจุดแข็งของการให้บริการของผู้เล่นปัจจุบัน ผ่านการแสวงหาพันธมิตรผู้ให้บริการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประเภทสินค้าและบริการให้ครอบคลุมและตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น
• ส่วนผู้ให้บริการที่เป็นธนาคารพาณิชย์นั้น แม้ด้วยนโยบาย จะมุ่งเน้นการจ่ายบิลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และ/หรือการหักบัญชีอัตโนมัติที่มีต้นทุนการให้บริการต่อรายลูกค้าที่ต่ำกว่า แต่คาดว่ามีแนวโน้มจะรณรงค์การจ่ายบิลผ่านเคาน์เตอร์มากขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันต่อการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคาร ควบคู่กับการเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจากลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ยังคุ้นเคยกับการจ่ายบิลกับพนักงานที่หน้าเคาน์เตอร์ โดยสามารถใช้จุดแข็งในเรื่องความน่าเชื่อถือและฐานลูกค้าที่เดินทางมารับบริการที่สาขาธนาคารอยู่แล้ว รวมถึงเครือข่ายสาขาที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 6,000 แห่ง


กลยุทธ์ทางธุรกิจของผู้ให้บริการทั้งธนาคารพาณิชย์ และ Non-bank ในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มที่คาดว่าจะเห็นในอนาคต
Non-bank Bank
1. ผู้ให้บริการรายใหม่ ส่วนใหญ่ใช้การประชาสัมพันธ์หรือแนะนำจุดรับชำระค่าบริการรายใหม่ กับฐานลูกค้าเดิมของตัวเองและฐานลูกค้าของเจ้าของบริการ/สินค้า ที่รับชำระค่าบริการ โดยมักเลือกเปิดตัวด้วยการให้ข้อเสนอพิเศษด้านราคาในช่วง 3-6 รอบบิลแรก   1. ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่บางแห่ง เริ่มโปรโมทธุรกรรมการจ่ายบิลมากขึ้น โดยผ่านการโฆษณา และออกโปรโมชั่นของแจกแถมพิเศษ ทั้งเพื่อสร้างความรู้จักและทดลองใช้บริการ
2. ผู้ให้บริการรายเดิม ขยายเครือข่าย/จุดบริการให้เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบการชำระเงินให้เป็นแบบเรียลไทม์มากขึ้น  รวมถึงการเพิ่มประเภทบริการ โดยแสวงหาพันธมิตร/คู่ค้าทางธุรกิจเพื่อเป็นตัวกลางชำระเงินให้เพิ่มขึ้น 2. การปรับปรุงรูปแบบจุดบริการ ที่คาดว่าจะได้เห็นเพิ่มขึ้นในไม่ช้านี้ เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของการรับบริการที่อาจต้องเข้าคิวนาน  
3. ผู้ให้บริการบางราย ได้จัดรายการส่งเสริมการขายเป็นระยะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการซ้ำ ผ่านการนำใบเสร็จรับเงินที่ชำระมาเป็นสิทธิในการชิงรางวัลต่าง ๆ  3. ธนาคารพาณิชย์ อาจอาศัยความได้เปรียบจากฐานลูกค้าธุรกิจของธนาคาร เพื่อเสนอบริการการเป็นตัวแทนจ่ายบิล ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้ธนาคาร ขณะเดียวกันยังช่วยบริหารกระแสเงินสดให้ลูกค้าธุรกิจได้อีกด้วย



รวบรวมโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


บทสรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธุรกิจบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการยังมีแนวโน้มเติบโต ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่คงความเข้มข้นต่อเนื่อง ซึ่งผู้ให้บริการหลักทั้ง Bank และ Non-bank ต่างก็มีจุดแข็งและตระหนักถึงข้อได้เปรียบของตน  ขณะเดียวกันต่างก็มีแนวโน้มเสริมจุดเด่นด้วยการพัฒนาช่องทางการให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ด้านการเข้าถึงบริการ ความสะดวกรวดเร็ว และความน่าเชื่อถือ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตนไว้ โดยคงจะยังเห็นธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการให้บริการผ่านช่องทางเคาน์เตอร์ พร้อม ๆ กับการชูจุดเด่นการให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และบริการหักบัญชีอัตโนมัติ ในขณะที่ผู้เล่นกลุ่ม Non-bank ก็คงจะมีการขยายเครือข่ายการให้บริการและปรับกระบวนการที่จุดขาย ซึ่งคงจะทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น ราคาถูกลง ภายใต้ความสะดวกสบายของการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังคงเลือกการชำระเงินด้วยเงินสดหน้าเคาน์เตอร์ คงจะทำให้เป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยในการพัฒนาระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและลดต้นทุนการบริหารจัดการลง ด้วยการลดการใช้เงินสดลง อาจเป็นเรื่องที่ยังต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคย ควบคู่กับการเสริมความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจมากขึ้น

แหล่งข้อมูล/ที่มา :  กสิกรไทยชี้แนวโน้มธุรกิจชำระค่าสินค้าและบริการแข่งขันเข้มข้น 
วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2012 เวลา 11:44 น. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย -  ฐานเศรษฐกิจ 

ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์

ตัวอย่าง วีดีโอจุดรับชำระค่าสินค้าและบริการ จาก youTube



All you need is mPAY


mPAY App


สอบถามข้อมูลธุรกิจรับชำระค่าสินค้าและบริการ mPAY 
ติดต่อคุณนุส โทร. 086-335-1299 E-mail : smartwealth.biz@gmail.com
หรือ ดูข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ www.smartwealth.biz